เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะรัฐศาสตร์จัดงานเสวนา “ย้อนพินิจ ‘บ้านพิษณุโลก’ การทูตไทย ณ ทางแพร่งแห่งความเปลี่ยนแปลง” เนื่องในวาระ 70 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวาระ 20 ปี แห่งการก่อตั้งโครงการปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ (MIR) วิทยากรโดย ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีช่วยว่าการกะรทรวงการต่างประเทศ และ ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์ มธ. ศ.ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากไม่มีมา 8 ปี เป็นความท้าทายสำคัญของนายกฯคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งช่วงนั้นสงครามเย็นกำลังจะจบ ท่านได้สัมผัสต่างประเทศและเห็นว่านโยบายที่ผ่านมา แม้จะไม่ผิด แต่ก็อาจจะไม่ถูก การสนับสนุนต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประเทศ เราเริ่มมีปัญหากับความสัมพันธ์ของสหรัฐ เรื่องสิทธิพิเศษ และปัญหาการจะโดนตอบโต้ทางการค้า สิทธิบัตร แรงงานการค้า ซึ่งสัมพันธ์ไปถึงเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ เหตุที่เรียกว่าบ้านพิษณุโลก เพราะ 1.เราตกลงว่าไม่อยากตั้งหน่วยงานในมหาวิทยาลัย เพราะไม่มั่นใจว่ามหาวิทยาลัยจะพร้อมและเต็มใจ 2.ไม่อยากตั้งในกระทรวง ทบวง กรม 3.ไม่อยากอยู่ในภาคเอกชน เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ยังกล่าวถึงความท้าทายของรัฐบาลปัจจุบัน โดยนำบทเรียนจากอดีตของ พล.อ.ชาติชายมาเสนอว่า ท่านายกฯชาติชายมองได้ไกลเพราะคิดนอกกรอบ โดยให้คณะที่ปรึกษาทำหน้าที่ถามทางว่าใช่หรือไม่ใช่ นอกจากเรื่องการดีลกับสงครามเย็นแล้ว สิ่งที่ท่านชาติชายทำในช่วง 2 ปีครึ่งของการเป็นนายกฯคือ การทำให้เห็นว่าต้องมีการสร้างสมดุลของอิทธิพลกลุ่มมหาอำนาจให้ได้ โดยสิ่งแรกที่ทำคือนโยบายอินโดจีน ซึ่งยากที่จะมีการติดต่อสื่อสารกับท่านฮุน เซน แต่ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่เปิดความสัมพันธ์ เพราะสนิทกับบุคคลต่างๆ มีการเอารังนกไปฝาก ซึ่งของแบบนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง ท่านมีวิธีการสานสัมพันธ์โดยคิดนอกกรอบมากมาย เช่น การแอบพบกันที่นิวยอร์ก ท่านมีเครดิตที่สะสมแต้มไว้กับจีนสูงมาก แม้จีนจะไม่พอใจที่ท่านไม่สนับสนุนเขมร 3 ฝ่าย แต่จีนก็โกรธไม่ลง จนผู้นำของจีนฟังเหตุผล หรือแม้กระทั่งอยู่ที่จีนเองท่านก็ยังส่งคณะที่ปรึกษาออกไปกลางคืน ไปพบกับลูกประธานธิบดี รองประธานาธิบดี และยังให้ความสนใจกับเวียดนามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ศ.ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า ไม่มีอะไรจะแนะนำรัฐบาลปัจจุบัน ไม่บังอาจ อย่างไรก็ตาม คิดว่าสิ่งท้าทาย มี 2-3 ข้อ อย่างแรกคือ จะทำอย่างไรให้เราสามารถจับมือประเทศเพื่อนบ้านให้อุ่น ผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศพบกันตลอดเวลาอย่างไม่เป็นทางการ มีอะไรเปิดอกคุยกันได้ ขอยกตัวอย่างกรณีสะพานข้ามแม่น้ำเหือง ท่าลี่ แก่นท้าว โผของฝ่ายไทยทั้งหมดบอกห้ามหยิบยกเรื่องนี้คุยกับลาว เพราะ สปป.ลาวไม่เอา ตอนนั้นตนเชื่อ เพราะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 3 เดือน พอไปเยือนแขวงบ่อแก้ว ได้นั่งรถกับเจ้าแขวง ท่านบอกว่าเมื่อไหร่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหืองสักที พอไปถึงแขวงดังกล่าว ตนขอพบนายกฯสมสะหวาดเป็นการส่วนตัว ถามท่านถึงประเด็นดังกล่าว ท่านบอกว่าลาวเห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ไทยบอกจะเป็นสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเหือง ไทยบอกจะเอาสะพานใช้แล้วมาให้ โดยให้ลาวเอาไม้มาทำพื้นสะพาน ตนจึงโทรศัพท์คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยนั้น ท่านบอกถ้าเห็นควรสร้าง ทำได้เลย ตนจึงประกาศในที่ประชุมว่าไทยจะสร้างให้ จะเห็นได้ว่าพอมีความใกล้ชิด คุ้นเคยสามารถคุยกันได้ ก็เกาถูกที่คัน แก้ปัญหาได้ ศ.ดร.สุรเกียรติ์กล่าว ศ.ดร.สุรเกียรติ์กล่าวต่อว่า ประการที่สองคือ ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ทำอย่างไรไทยจะเป็นผู้นำให้ประชาชนในอาเซียน หรือสังคมอาเซียนพร้อมสำหรับอนาคต กรณีสิงคโปร์ตั้งโจทย์มาแล้วว่าจะเป็นอาเซียนที่มีนวัตกรรมและปรับตัวได้ ไทยจะพูดถึงความร่วมมือหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เราน่าจะนำธงว่าเป็น “ฟิวเจอร์ เรดดี้ อาเซียน” ซึ่งมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและสงครามการค้า ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนเร็วมาก ประการที่สามคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยซึ่งมีสถานะเป็นสะพานเชื่อมภูมิภาคมาตลอด 100 กว่าปี ใครทะเลาะกัน เราสนิทหมด เช่น อินเดีย กับปากีสถาน และเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ไม่ว่าใครขัดแย้งอย่างไร ไทยเป็นที่ซึ่งแต่ละประเทศขอมาคุยกัน ดังนั้น เราจะรักษาความเป็นสะพานเชื่อมภูมิภาคให้เป็นประโยชน์กับประเทศของเราอย่างไร ประการสุดท้าย ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า “ผู้แทนพิเศษ” และสถาบันที่เป็น “กึ่งรัฐบาล กึ่งไม่ใช่รัฐบาล” คล้ายๆ กับบ้านพิษณุโลกเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ปัจจุบันหลายประเทศก็ใช้วิธีนี้ เช่น สิงคโปร์ จีน เกาหลี อังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายว่าไทยมีหรือไม่ และควรจะมีหรือไม่ในยุคนี้
ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า รัฐบาลวันนี้กับรัฐบาลในยุค พล.อ.ชาติชายไม่เหมือนกัน เพราะรัฐบาล พล.อ.ชาติชายเป็นรัฐบาลประชาชน รัฐบาลวันนี้คือรัฐบาลราชการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีพรรคการเมืองเข้ามาเป็นเครื่องประดับ ที่บางทีสวย บางทีก็ไม่สวย เพราะฉะนั้นขณะนี้ไม่มีบรรยากาศที่จะมีองค์กรอย่างที่ ศ.ดร.สุรเกียรติ์พูดว่าจะให้ใช้หรือไม่ หากดูจากพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่าคงไม่อยากใช้ เพราะอยากทำเอง ดูจากท่าทาง ท่านทำเป็นทุกเรื่อง รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม นี่เป็นจังหวะเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยน โดยเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากยุค พล.อ.ชาติชาย กล่าวคือในตอนนั้นอเมริกาต้องการให้ประเทศต่างๆ เปิด ไทยก็เล่นเกมนั้นด้วย ตนก็เคยเดินทางไปเจรจาให้จีนเปิดเช่นกัน แต่ปัจจุบันอเมริกาเป็นผู้อยากปิด ในขณะเดียวกันตอนนั้นจีนเป็นผู้ตาม แต่ตอนนี้กลายเป็นผู้นำหรืออยากนำ เพราะฉะนั้นเกมจึงเปลี่ยน โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยี ตอนนี้อเมริกาเองทอดสะพานเข้ามาหาเราเพื่อไม่อยากให้เราไปทางจีน ตนเชื่อว่ารัฐบาลเล่นเองไม่พอ ต้องมีคนเล่นข้างล่าง เล่นเบื้องหลัง และข้างๆ อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า นโยบายในภาพกว้างของ พล.อ.ชาติชาย ส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างอภิมหาอำนาจ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัด โอกาสที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าและรายได้ให้ประชาชนในประเทศแต่ในขณะเดียวกันการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นและสลับซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดซึ่งนายกฯชาติชายเข้าใจดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า นโยบายต่างประเทศที่ออกมาในยุคดังกล่าว ไม่เพียงมาจากการปรับตัวตามสถานการณ์โลก แต่ยังมาจากความเชี่ยวชาญ ความเชื่อ ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการต่างประเทศของนายกฯชาติชาย
“ท่านเป็นทูตที่อาร์เจนตินา ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ รวมกันถ้าจำไม่ผิดคือ 14 ปี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยนายกฯคึกฤทธิ์ ปราโมช ดังนั้นจึงมีประสบการณ์มาก ผมคิดว่ามากที่สุดในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยกเว้น ดร.ถนัด คอมันตร์เท่านั้น” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.จุลชีพกล่าวว่า ลักษณะเด่นของคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ทุกคนล้วนเป็นคนหนุ่มไฟแรง กระตือรือร้นอย่างมากในการทำงานให้ประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในแต่ละสาขา จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยมี ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน เป็นผู้ประสานด้วย นอกจากนี้ แม้คณะที่ปรึกษามีจำนวนไม่มากนัก คือ 7 คน แต่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ผู้กำหนดนโยบายอย่าง พล.อ.ชาติชาย ขณะที่บุตรชายของท่านถูกคนมองว่าซ้าย แต่คนมองท่านว่าอยู่ฝ่ายขวา แต่ความที่เป็นพ่อลูกก็มาร่วมมือกันอย่างดี แล้วดึงเพื่อนๆ ของลูกมาช่วยกันทำงาน มีบทบาทโดดเด่นทั้งด้านความคิดและการปฏิบัติ มีการปฏิบัตินอกกรอบ ไม่เป็นทางการ คือสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งของบ้านพิษณุโลก
“นโยบายสำคัญของบ้านพิษณุโลกมีหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ ในขณะที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นให้ความสำคัญกับความมั่นคง การทหาร ภัยคุกคาม พคท. ฯลฯ แต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชายมองเห็นโอกาสด้านเศรษฐกิจ ดังที่เห็นจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า อาจกล่าวได้ว่านโยบายนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของไทย เนื่องจากก่อนหน้านั้นไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นหลัก เศรษฐกิจเป็นรอง” ศ.ดร.จุลชีพกล่าว
ข้อมูลจาก : https://www.matichon.co.th/politics/news_1638900