มทร.อีสาน ผนึก EA รุกพัฒนาอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ครบวงจร
มทร.อีสาน ผนึก EA รุกพัฒนาอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ครบวงจร
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน กล่าวตอนหนึ่งในการร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทร.อีสาน กับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผ่านระบบออนไลน์ มี รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดี และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท EA ร่วมลงนาม ว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวิจัยเชิงวิชาการ และปฏิบัติการ เพื่อเตรียมทักษะ และความพร้อมบุคลากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ครบวงจร ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หลักสูตรการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า หลักสูตรระยะสั้นส่งเสริมการสร้างทักษะใหม่/พัฒนาทักษะ การสร้างและซ่อมบำรุงรถไฟไฟฟ้าระบบแบตเตอรี่ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบตเตอรี่ และการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเพื่อระบบขนส่ง รวมถึง การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภายในมหาวิทยาลัย ตามแนวคิดการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ทั้งนี้ หลักสูตรจะเน้นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษา และผสานความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ในการพัฒนาวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรม
รศ.ดร.โฆษิต กล่าวว่า เมื่อเดือนมกราคม 2564 มทร.อีสาน ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ EA ในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมการปลูก และพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมถึง กัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุข และครั้งนี้ต่อยอดความร่วมมือกับ EA ในด้านการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท EA กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าความร่วมมือกับ มทร.อีสานในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากร สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า New S-Curve ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะแรงงานฝีมือ รองรับการเติบโตในอนาคต เรากำลังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเตรียมพร้อม Up-skill / Re-skill บุคลากรไทย สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ประเทศไทยดำรงความเป็น Detroit of Asia ที่ภาคภูมิใจ และรักษาอุตสาหกรรมหลักนี้ไว้ได้ คิดว่ายานยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับประเทศไทย เพราะประสิทธิภาพที่ดีกว่า ช่วยประหยัดต้นทุนพลังงาน และแก้ปัญหา PM 2.5 เสริมจุดแข็งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการแพทย์ของไทย