นางเทเรซ่า เชง กล่าวว่าวิสัยทัศน์ 2030 เพื่อหลักนิติธรรมนี้จะสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้ง 17 เป้าหมาย (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 16 เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (Access to Justice) คณะทำงานจะให้ข้อคิดเห็นว่าในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ควรมีความคิดริเริ่มด้านการศึกษาและการใช้หลักนิติธรรมอย่างไร จึงจะมีสังคมที่เป็นธรรมขึ้น และใช้หลักนิติธรรมที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างราบรื่น รวมทั้งเสนอแนะถึงการมีประสิทธิภาพของการใช้หลักนิติธรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders)เพื่อนำไปสู่สังคมที่มีกฎเกณฑ์ที่มีความเป็นธรรม โดยขอให้สมาชิกแต่ละคนแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานต่างๆ จากภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ ได้กล่าวว่าแม้คณะที่ปรึกษาจะมีนักนิติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แต่ตนตั้งใจจะนำพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับหลักนิติธรรมที่ทรงมีพระราชกรณียกิจมาเกือบ 70 ปี เช่นการที่ทรงมีพระบรมราโชวาทหลายครั้งว่าความยุติธรรมย่อมต้องอยู่เหนือกฎหมาย การที่ทรงมีโครงการที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชทดแทนยาเสพติดบนพื้นที่สูงเป็นต้น ซึ่งเป็นการที่ทรงผสมผสานการใช้กฎหมายกับความเป็นธรรมจนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีสันติภาพและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับของสหประชาชาติอีกด้วย
โครงการในพระราชดำริอีกมากมายที่ได้ดำเนินต่อยอดมาในปัจจุบัน ล้วนมีการผสมผสานของหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลของท้องถิ่นกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การบริหารจัดการน้ำในที่ลุ่ม และในที่สูงในภาคต่างๆของประเทศไทย โครงการพัฒนาหมู่บ้านต่างๆ ที่ขาดปัจจัยการผลิต ขาดโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการมีส่วนร่วม ด้วยความเป็นธรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ชาวบ้านมีหลักเกณฑ์ในการบริหารการพัฒนาความพอเพียง รวมทั้งโครงการที่หาทางให้คนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้โดยไม่เบียดเบียนกัน เหล่านี้ล้วนเป็นแง่มุมจากหลักนิติธรรมระดับท้องถิ่นที่มีความลึกซึ้ง และกำกับปรับการใช้กฎหมายฝ่ายบ้านเมืองที่อาจมีความถูกต้องในการบังคับใช้ แต่อาจสร้างความขัดแย้งร้าวฉานที่ไม่มีสันติสุข ไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยนำมุมมองเหล่านี้ มาเป็นตัวอย่างของนิติธรรมในระดับนานาชาติ
พระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในการปฎิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง การสร้างและฝึกอาขีพให้ผู้ที่จะพ้นโทษให้กลับเข้าสู่สังคมได้ใหม่ (Social Re-Entry) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของการที่ทรงใช้หลักนิติธรรมมาประยุกต์ให้กับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรม นอกจากนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประธาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก ได้ทรงมีพระดำริในการสร้างชุมชนเฝ้าระวังภัยเพื่อนพี่ง(ภา)ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆฝึกอบรมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีกฎระเบียบปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกัน มีความพร้อมเพรียงร่วมมือกันเตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่มในหลายสิบแห่งในปัจจุบัน ก็เป็นตัวอย่างจากมุมมองต่างๆที่หลักนิติธรรมได้สร้างธรรมาภิบาลเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันโดนสันติและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
นอกจากนี้ โครงการขององค์กรภาคประชาสังคมอีกมากมายของประเทศไทย ที่มุ่งสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จัดการศึกษาเรียนรู้ การสาธารณสุข สร้างงานสร้างอาชีพ จัดการตนเองได้ในเรื่องต่างๆ ย่อมเป็นตัวอย่างที่หลักนิติธรรมเข้ามามีบทบาทให้ทุกฝ่ายช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน แม้บางเรื่องอาจไม่สอดคล้องเต็มที่กับกฎหมายที่ใช้อยู่ในเรื่องนั้นๆก็ตาม เพราะความยุติธรรม ความเป็นธรรม หรือหลักนิติธรรมย่อมกำกับการบังคับใช้กฎมายให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ์ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของหลักนิติธรรมกับสันติภาพว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด หลักนิติธรรมคือ ธรรมะของกฎหมายเป็นหลักที่กำกับกฎหมายอีกทีหนี่งว่ากฎหมายที่ดีต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นกฎหมายที่มีความเป็นธรรม มีการบังคับใช้ที่เป็นธรรมจึงจะนำมาซึ่งการยอมรับปฏิบัติตามกฎหมาย นำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมต่างๆ ในทุกประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ และจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันทำตามกฎหมาย
การที่รัฐมีกฎหมายใช้ในการปกครอง (Rule by Law) หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่านิติรัฐอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติได้ หากแต่ต้องมีหลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นหลักของกฎหมายเหล่านั้นอยู่ด้วย สมาชิกของคณะทำงานที่ปรึกษาด้านหลักนิติธรรมเพื่อวิสัยทัศน์ 2030 นี้มี 17 ท่าน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กฎมายการค้าแบะการลงทุนและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ โดยสันติวิธีเช่น ผู้พิพากษา สูย ฮันฉิน(Xue Hanqin) รองประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก (International Court of Justice),
ศาสตราจารย์ นิโค ชริบเวอร์ (Nico Schrijver) ศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ไลเดน เนเธอร์แลนด์ และเป็นอดีตประธานสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ(Institut de Droit International), ผู้พิพากษา โรสแมรี่ บาเก็ต (Rosemary Barkett) ผู้พิพากษาในคณะตุลาการข้อเรียกร้องอิหร่าน-สหรัฐ อดีตหัวหน้าศาลสูงของรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา, นายมัคดูม อาบี คาน อดีตอัยการสูงสุดของปากีสถานและนักกฎหมายจากภาคเอกชน นักนิติศาสตร์ด้านอนุญาโตตุลาการทางการพาณิชย์ระหว่างประเทศ นักนิติศาสตร์จากองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นต้น